วันศุกร์, 17 พฤษภาคม 2567

ต่างประเทศ สนใจ แห่จองกัญชาอินทรีย์ แม่โจ้ ให้ราคาใบสดสูงกิโลฯละ30,000บาท

   

กัญชาอินทรีย์ ม.แม่โจ้ เนื้อหอม ตลาดต่างประเทศแห่จองเพียบ ทั้งเพิ่งเอาต้นกล้าลงดิน เบื้องต้นให้ราคาใบสดสูงกิโลฯละ30,000บาท หลังเอกชนร่วมมือวิจัยพัฒนา ทุ่ม70ล้านบาทตั้งโรงเรือนอัจฉริยะปลูกกัญชา 24,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก คาดเริ่มเก็บเกี่ยว มี.ค.65 

9 ธ.ค. 64  ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  และ นางอิสรีย์ ณ น่าน ผู้บริหารบริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด ได้ร่วมกันเปิดโรงเรือนปลูกกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกให้ผู้สื่อข่าวได้เข้าชมความคืบหน้าของการปลูกกัญชาพันธ์แม่โจ้ 03 จำนวน 24,000 ต้น หลังจากเมื่อ วันที่ 26 พ.ย.64  นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโรงเรือนปลูกกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ด้วยจำนวนการปลูกทั้งสิ้น 24,000 ต้น บนพื้นที่ 6.25 ไร่ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชา สนับสนุนงบประมาณ 70 ล้านบาท ในการสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดำเนินการวิจัยพัฒนาการปลูกกัญชาและเก็บเกี่ยวช่อดอกเพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

นางอิสรีย์ ณ น่าน ผู้บริหารบริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างบริษัทฯกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ว่า  สืบเนื่องจากการที่หน่วยงานรัฐมีการปรับแก้กฎหมายปลดล็อคให้ชิ้นส่วนของต้นกัญชายกเว้นช่อดอก ที่ปลูกโดยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทางบริษัทฯ มีเป้าหมายและมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูงในการที่จะผลักดันกัญชาสายพันธุ์ไทยสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัญชาที่ปลูกในระบบอินทรีย์ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดต่างประเทศเพื่อนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้มีการหารือร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มีความองค์ความรู้เชี่ยวชาญในการวิจัยพัฒนาปลูกกัญชาระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  กระทั่งเกิดเป็นโครงการความร่วมมือนี้

โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ทางบริษัทฯ ได้สนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์ ทั้งสิ้น 70 ล้านบาท เพื่อปลูกกัญชาจำนวน 24,000 ต้น บนพื้นที่ 6.25 ไร่ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งโรงเรือนปลูกกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้กัญชาที่ปลูกเป็นสายพันธุ์แม่โจ้ 03 ซึ่งทางศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์อิสระ 01 ให้มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และสามารถเจริญเติบโตได้ดี รวมทั้งให้ผลผลิตกัญชาที่มีคุณภาพ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่ากัญชาที่ปลูก 24,000 ต้น ในครั้งนี้น่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือน มี.ค.65 โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้นั้น ในส่วนของช่อดอกทั้งหมดจะส่งมอบให้กับทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลิตยารักษาโรคและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ขณะที่ในชิ้นส่วนอื่นๆ ของต้นกัญชา ทั้งลำต้น,ใบ,กิ่งก้าน และราก ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารหรือส่วนประกอบของยาแผนโบราณ รวมทั้งแปรรูปหรือสกัดสารสำคัญไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้นั้น ผู้บริหารบริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด ระบุว่า ทางบริษัทฯ จะเก็บเกี่ยวนำไปจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่เบื้องต้นมีผู้ซื้อที่แสดงความต้องการสั่งจองทุกชิ้นส่วนของต้นกัญชาแล้วเป็นจำนวนมากและราคาค่อนข้างสูง ทั้งที่ยังเพิ่งเริ่มปลูกและยังไม่รู้ว่าผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จะมีปริมาณเท่าใด โดยในส่วนของใบสดติดก้านความชื้นไม่เกิน 10% เบื้องต้นราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 30,000 บาท ซึ่งนอกจากโรงเรือนปลูกแล้ว ในอนาคตทางบริษัทฯ มีแผนงานระยะต่อไปที่จะขยายร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย ดำเนินการตั้งโรงสกัดสารสำคัญจากชิ้นส่วนต้นกัญชาด้วย เพื่อการศึกษาวิจัย รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและสะดวกในการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกนับร้อยล้านบาท

ด้านศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทางบริษัทได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงเรือนปลูกอัจฉริยะ (Smart Farming) พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ในวงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท บนเนื้อที่ 6.25 ไร่ ปลูกกัญชารวมทั้งสิ้น 24,000 ต้น ถือเป็นโรงเรือนปลูกกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ตามความร่วมมือนี้นอกเหนือจากผลผลผลิตที่ส่งมอบให้หน่วยงานสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ประโยชน์ในการทดสอบและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทย รวมทั้งได้ทดสอบวิจัยพัฒนาระบบการปลูกพืชอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นโอกาสของบุคลากรและนักศึกษาในการฝึกปฏิบัติจริงให้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในภาพรวมของประเทศต่อไป.

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ School of Management Jiangsu University สาธารณรัฐประชาชนจีน หารือความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยระหว่างกัน ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ( 10/05/2567)
คณะวิทยาศาสตร์ จัดโครงการทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 31 ปี
มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดโครงการปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี 2567
รับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับค่าจ้างจากเงินรายได้ ตำแหน่งอาจารย์ จำนวน 3 อัตรา สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ (ครั้งที่ 1)
พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ บริษัท ไฮโดรไทย จำกัด

อีกหนึ่งช่องทางติดตามข่าวสารกับเราที่ FACEBOOK


This will close in 20 seconds