วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่งมอบดอกกัญชาแห้งบดจำนวน 161 กิโลกรัม แก่โรงพยาบาลอุดร เพื่อผลิตยาและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พร้อมทั้งเผยกำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ไทย “กัญชาแม่โจ้03” และ “กัญชงแม่โจ้10” สร้างมาตรฐานสายพันธุ์ไทย ต่อไป

วันนี้(4 มี.ค.64) โรงปลูกกัญชาอินทรีย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่,สถานีตำรวจภูธรสันทราย และสถานีตำรวจภูธรแม่โจ้ ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีส่งมอบดอกกัญชาแห้งบดจำนวน 161 กิโลกรัม,รากกัญชาแห้งจำนวน  50กิโลกรัม และลำต้นแห้งจำนวน 150 กิโลกรัม มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 8 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลอุดรธานีและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เพื่อผลิตยาและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตามโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์แบบครบวงจร ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ไม่มีสารเคมี และสารปรุงแต่งใดๆ

ทั้งนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขตามโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีสาร THC และ CBD ในทิศทางที่ทางการแพทย์ต้องการ เริ่มจากเมล็ดพันธ์กัญชาอิสระ 01 ที่ได้รับมอบจากกรมการแพทย์ 16,700 เมล็ด นำมาปลูก พร้อมวิจัยและตรวจสอบปริมาณสารสำคัญ ซึ่ง่พบว่าจากการสุ่มตัวอย่างต้นกัญชา 133 ต้น จากที่ปลูก12,000ต้นในโรงเรือนเพื่อติดตามการเจริญเติบโตตลอดวงรอบการเพาะปลูกและตรวจDNA พบว่ามีความแตกต่างทางพันธุกรรม 9 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มยังมีปริมาณสารสำคัญไม่เท่ากัน โดยเฉพาะสาร THC และ CBD  ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าเวลานี้ยังไม่สมควรจดทะเบียนสายพันธุ์ อิสระ01 แต่ต้องปรับปรุงพันธุ์ให้ได้มาตรฐานเสียก่อนที่จะทำการขึ้นทะเบียน เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานสายพันธุ์กัญชาไทย โดยมีข้อมูลระดับพันธุกรรมยืนยันความนิ่งของสายพันธุ์

สำหรับการคัดแยกและปรับปรุงพันธุ์จากสายพันธุ์อิสระ 01 นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ระบุว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการทดลองปลูกมา 3 วงรอบการปลูกแล้ว พบว่ามี 1 สายพันธุ์ ที่มีระดับพันธุกรรมที่ค่อนข้างนิ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งชื่อพันธุ์ว่า กัญชาสายพันธุ์แม่โจ้ 03 ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบพันธุ์ให้ครบ5วงรอบการปลูก ขณะเดียวกันพบด้วยว่ามี 1 สายพันธุ์ ที่มีระดับ THCต่ำมาก  ซึ่งจัดอยู่ในประเภทพืชกัญชง โดยทางมหาวิทยาลัยตั้งชื่อพันธุ์ว่า กัญชงสายพันธุ์แม่โจ้ 10 กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบพันธุ์เช่นกัน ทั้งนี้มีแนวโน้มอย่างสูงที่ประสบความสำเร็จได้สายพันธุ์กัญชาและกัญชงที่มาตรฐานทั้งในด้านผลผลิต และปริมาณสารสำคัญ เพื่อทำการขึ้นทะเบียนต่อไป ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศไทย ทั้งด้านการแพทย์และด้านเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่บริษัทหรือผู้ประกอบการบางรายการอ้างชื่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการดำเนินธุรกิจลักษณะแฟรนไชส์จำหน่ายจ่ายแจกหรือขาย เมล็ดพันธุ์กัญชา เมล็ดพันธุ์กัญชง รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ของกัญชาทั้งใบ ลำต้นและรากนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไม่มีการจำหน่ายจ่ายแจกหรือขาย เมล็ดพันธุ์กัญชา เมล็ดพันธุ์กัญชง โดยไม่มีการจัดตั้งหรือร่วมงานกับบริษัทหรือผู้ประกอบการต่างๆ ตามที่กล่าวอ้างตามสื่อต่างๆ แต่อย่างใดทั้งสิ้น จึงขอให้ประชาชนทั่วไปอย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถสอบถามได้โดยตรงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมายเลขโทรศัพท์ 053-873730

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คณะวิทยาศาสตร์ จัดโครงการทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 31 ปี
มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดโครงการปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี 2567
รับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับค่าจ้างจากเงินรายได้ ตำแหน่งอาจารย์ จำนวน 3 อัตรา สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ (ครั้งที่ 1)
พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ บริษัท ไฮโดรไทย จำกัด
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จับมือลงนาม MOU ร่วมมือด้านวิชาการฯ เพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยอย่างยั่งยืน

อีกหนึ่งช่องทางติดตามข่าวสารกับเราที่ FACEBOOK


This will close in 20 seconds