วันเสาร์, 18 พฤษภาคม 2567

ถึงกัญชาจะไม่เสรีอยากจะปลูกกันมั้ย? (ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564)

วันนี้ใครบ้างล่ะไม่อยากปลูกกัญชาด้วยราคาใบสดที่ขายกัน กก.ละ 12,000-15,000 บาท ปลูกเล่นๆ อุจจาระสุกรอุจจาระสุนัขกัญชาแค่ต้นเดียวได้ใบสดอย่างน้อย 1.5 กก. ปลูกแค่ไร่เดียวเก็บเกี่ยวหนเดียว ได้อย่างน้อย 8,000 กก. ปีหนึ่งเก็บเกี่ยวได้ 3 ครั้ง…ถ้าขายได้ราคาจริงอย่างที่ว่ากัน คิดดูเงินจะมากมายขนาดไหน
แต่วันนี้ไม่ว่าจะนโยบายกัญชาเสรีหรือปลูกได้บ้านละ 6 ต้น การปลดล็อกกัญชา จนแล้วจนรอดทุกอย่างยังอยู่ในวังวนเดิม…ชาวบ้านยังปลูกไม่ได้แม้แต่ต้นเดียว เพราะกฎหมายยังปิดกั้นอยู่เช่นเดิม เพียงเปิดแง้มให้คนมีใบบุญเบิกทาง บางคนที่ทำได้เท่านั้นเอง

.
ส่วนชาวบ้าน เกษตรกรที่ฝันว่าจะได้ถีบสถานะตัวเองให้ลืมตาอ้าปากได้ด้วยกัญชา ยังยากอยู่เช่นเดิม…แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เอาซะเลย
“วันนี้ถ้าเกษตรกรอยากจะปลูกกัญชา สามารถทำได้แต่ต้องขออนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่ต้องหาสมาชิกมาอย่างน้อยให้ได้ 7 คน มารวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชน แล้วไปยื่นขอจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกับเกษตรอำเภอ แต่วิสาหกิจที่จะจัดตั้งได้ต้องมีแปลงปลูกที่ชัดเจน มีหลักแหล่งที่แน่นอน และต้องเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ไม่ใช่พื้นที่บุกรุกป่าและก่อนจะไปยื่นขอจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนควรที่จะไปติดต่อเจรจาทำสัญญากับ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ในพื้นที่ของตัวเองเสียก่อนว่าจะรับซื้อกัญชาจากเราหรือเปล่าเพราะนี่เป็นเอกสารสำคัญที่จะทำให้เราได้ปลูกหรือไม่ได้ปลูกกัญชา”
ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติหัวหน้าโครงการปลูกและเก็บเกี่ยว กัญชาเพื่อการแพทย์ ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แนะวิธีการให้กับเกษตรกรที่ตั้งตารอความหวังจะมีชีวิตใหม่ด้วยกัญชา

.
หลังจากได้รับใบอนุญาตจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนจากเกษตรอำเภอแล้ว จากนั้นให้นำเอกสารไปยื่นขอใบอนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน เพราะจะมีการตรวจประวัติอาชญากรรมของสมาชิกที่จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ทุกคนต้องไม่เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมาก่อน พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงไปตรวจพื้นที่ปลูกกัญชา
ในระหว่างนี้วิสาหกิจชุมชนต้องเตรียมสถานที่ปลูกให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมีการทำแนวเขตพื้นที่ปลูกให้เห็นอย่างชัดเจน มีการปิดกั้นพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 4 ด้าน โดยใช้วัสดุที่มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอกได้ มีประตูเข้า-ออก พื้นที่ปลูกให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และต้องมีป้ายแสดงข้อความ “สถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5”
พื้นที่โดยรอบต้องมีกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย มี รปภ.เฝ้าระวังพื้นที่ และภายในพื้นที่ปลูกต้องมีกล้องวงจรปิด ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงบริเวณประตูเข้าออก และมีกล้องวงจรปิดครอบคลุมทุกจุดที่มีการนำต้นใบ ช่อดอกเมล็ด สารสกัดไปเก็บ กล้องวงจรปิดต้องสามารถบันทึกข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมงและสามารถสำรองไฟล์ข้อมูลได้อย่างน้อย 1 ปี ประตูเข้าออกต้องมีระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินกรณีมีคนภายนอกลักลอบเข้ามาในพื้นที่ปลูก เป็นต้น

.
หลังจากผ่านการตรวจประวัติอาชญากรรมและตรวจสถานที่ปลูกแล้วเกษตรกรต้องรอไปอีกสักพักเพื่อรอให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติให้ปลูกกัญชา
ขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน ถึงจะได้รับใบอนุญาตให้ปลูกได้
ได้รับใบอนุญาตมาแล้ว จากนั้นเราไปยื่นขออนุญาตครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชาเพื่อนำไปปลูก…ปลูกแล้ว ช่อดอกเมล็ด เราต้องขายส่งให้กับ รพ.สต.หรือสถานพยาบาลที่เราได้ตกลงทำสัญญาไว้ตอนก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน ส่วนใบ ราก ต้น เราสามารถขายให้ใครหรือเอาไปทำเองก็ได้ โดยจะมีใบอนุญาตออกให้กับผู้ซื้อนำไปแปรรูปเป็นอาหาร เครื่องดื่มได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นั่นเป็นแค่ความยุ่งยากในขั้นตอนการขออนุญาตเท่านั้นนะ แต่ยังมีอีกขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กันและจะมองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือ ปลูกยังไงให้ได้ผลผลิตดี เพราะกัญชานั้นใช่ว่านึกจะหว่านเมล็ดไปแล้ว ปล่อยให้งอกขึ้นตามมีตามเกิด แล้วจะขายได้เหมือนปลูกพืชทั่วไป

.
ดร.อานัฐบอกว่า การปลูกจะให้ได้ผลดี ได้กัญชาปริมาณมากและได้มาตรฐาน สิ่งที่เกษตรกรควรจะรู้คือ จะปลูกเพื่อนำไปจำหน่ายทางการแพทย์ หรือแปรรูปเป็นอาหาร กัญชาแต่จะสายพันธุ์มีคุณสมบัติเหมาะที่จะนำไปใช้งานไม่เหมือนกัน นอกจากวิธีการปลูกจะมี 3 แบบแต่ละแบบยังให้ผลไม่เหมือนกันอีกต่างหาก วัสดุปลูกไม่ว่าจะเป็นดิน ปุ๋ย แต่ละประเภท ยังให้ผลต่อกัญชาแตกต่างกันไปอีกด้วย
ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด เกษตรกรต้องเรียนรู้วิธีปลูกให้ถูกต้อง ถ้าอยากจะปลูกจริงๆแบบมืออาชีพ ทางมหาวิทยาลัยยินดีให้คำปรึกษา โดยสามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 0-5387-3728 หรือสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ 0-5335-3140
เพราะที่นี่ถือเป็นแหล่งปลูกกัญชาได้มาตรฐานใหญ่ที่สุดในอาเซียน.
ชาติชาย ศิริพัฒน์

 

อีกหนึ่งช่องทางติดตามข่าวสารกับเราที่ FACEBOOK


This will close in 20 seconds