วันอังคาร, 16 เมษายน 2567

แม่โจ้เตรียมพื้นที่ 600 ไร่วิจัยกัญชา 600 ไร่ เผย กลุ่มทุนส่วนกลาง-ท้องถิ่น แห่ศึกษาต่อยอดธุรกิจยา-เครื่องดื่มเครื่องสำอาง-อาหาร

แม่โจ้เตรียมพื้นที่ 600 ไร่วิจัยกัญชา 600 ไร่ เผย กลุ่มทุนส่วนกลาง-ท้องถิ่น แห่ศึกษาต่อยอดธุรกิจยา-เครื่องดื่มเครื่องสำอาง-อาหาร

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา เกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสเรื่องกัญชายังแรงไม่ตก และยังได้รับความสนใจจากกลุ่มทุน ทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่นเป็นจำนวนมากในการศึกษาวิจัยพืชกัญชา และกัญชงร่วมกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยเฉพาะการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ทั้งทางการแพทย์ ธุรกิจยา เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและอาหาร

สำหรับโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร่วมกับกลุ่มทุนภาคเอกชน คือ บริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท จำกัด เปิดโรงเรือนปลูกกัญชาในระบบอุตสาหกรรมอินทรีย์ 24,000 ต้น บนเนื้อที่ราว 6 ไร่ เพื่อนำผลผลิตกัญชาที่มีคุณภาพไปสกัดทำยารักษาโรค ทั้งนี้ บริษัท เค ที พี แอสโซซิเอท สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงเรือนปลูกอัจฉริยะ (smart farming) กว่า 70 ล้านบาท ซึ่งจะทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในโรงเรือนจำนวนทั้งสิ้น 24,000 ต้น ส่งมอบให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำไปสกัดทำยารักษาโรคต่อไป โดยใช้เทคนิคการปลูกระยะชิด ภายใต้ การดูแลทั้งการเจริญเติบโตของพืช การให้อาหาร การป้องกันศัตรูพืช เป็นระบบอินทรีย์ทั้งหมด รวมทั้งการควบคุมการให้น้ำ ความชื้น อุณหภูมิ และแสงแบบ smart farming

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้ลงนามความร่วมมือกับกรมการแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกัญชงในระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยได้ปลูกกัญชาจำนวนทั้งสิ้น 16,700 ต้น รวมทั้งจะร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนศึกษาวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและพืชสมุนไพร ร่วมกันผลิตกัญชาทางการแพทย์ โดยกรมจะรับมอบผลผลิตกัญชาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อผลิตตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่

ขณะเดียวกัน จะเน้นการพัฒนาทางวิชาการ การจัดการเรียนการสอน ด้าน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้เตรียมเปิดสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เพื่อผลิตบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรับใช้สังคม ประเทศชาติ ดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค เฉพาะทาง สำหรับความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี (2565-2570)

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ในด้านการวิจัยและพัฒนาในการทำเกษตรอินทรีย์และการปลูกพืชมูลค่าสูง คือ กัญชง โดยบริษัท ซันสวีท จะดำเนินการปลูกกัญชงในพื้นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัทเอง ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะสนับสนุนนักวิจัยและนักวิชาการในสังกัด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูก และพัฒนาสายพันธุ์กัญชงทั้งระบบ เบื้องต้นทางบริษัทจะนำผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานสำหรับนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกัญชง

“มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีพื้นที่สำหรับรองรับการวิจัยและพัฒนาการปลูกกัญชาราว 500-600 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้ใช้พื้นที่ไปราว 20 ไร่เท่านั้น เรามีพื้นที่มากเพียงพอที่จะรองรับการปลูก และจะเร่งเดินหน้าการวิจัยและพัฒนาการปลูกพืชกัญชาอย่างต่อเนื่อง”

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกลุ่มทุนที่สนใจร่วมมือการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชากับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์เจเล่ ที่สนใจนำกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กึ่งเครื่องดื่ม-ของขบเคี้ยว รวมถึงกลุ่มทิปโก้ ก็ให้ความสนใจทำเครื่องดื่มที่นำกัญชามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำพริกเผาแบรนด์ดัง และกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นต้น

ที่มา:  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 – 8 เม.ย. 2565

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จับมือ บริษัทไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จก. (มหาชน) สนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินงาน “ศูนย์ทดสอบ วิจัย และพัฒนากัญชงอุตสาหกรรม”
กัญชา และกัญชง ปลุกกระแสความหวัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ นักวิชาการเสนอเร่งกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ: ปั่นราคา’กัญชา’ โอเวอร์ ใบสด ‘แม่โจ้’ ขายกิโลละพัน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564
Clipping ข่าวประจำวันที่ 8 เมษายน 2564 ( คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ: ปั่นราคา’กัญชา’ โอเวอร์ ใบสด ‘แม่โจ้’ ขายกิโลละพัน)
ม.แม่โจ้ เปิดงาน “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” สาธิตการนำชิ้นส่วนกัญชา ทั้งใบสด ต้น และรากปรุงเมนูอาหารรสเด็ดโดยกว่า 40ร้านดัง
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนาม ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบกัญชาและใบกัญชง กับ บริษัท สยามเฮมพ์ จำกัด