วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผลักดันนโยบายกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เน้นส่งเสริมด้านสุขภาพ บริการ และเศรษฐกิจชาติ

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ จับมือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ลงนาม MOU เดินหน้าศึกษาวิจัยพืช “กัญชา”และพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ สู่มิติใหม่ของการสร้างและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการจัดการ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ของประเทศอย่างยั่งยืน ล่าสุด ม.แม่โจ้เตรียมเปิดสาขาวิชาแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก เร็วๆนี้

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565) ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเดินหน้าศึกษาวิจัยพืช “กัญชา” และพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โดยมี รองศาสตราจารย์     ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้ลงนามพร้อมสักขีพยานของทั้ง 2 องค์กร

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศด้านการเกษตรกรรม มีคณาจารย์และบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีเทคโนโลยี เชิงเกษตรกรรม   ที่สามารถผลิตพืช ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูง มีการจัดการเรียน การสอนอย่างหลากหลาย ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานจริง รับใช้สังคมอยู่ทั่วประเทศ สำหรับความร่วมมือกับทางกรมในครั้งนี้ จะร่วมกันขับเคลื่อน        การศึกษาวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและพืชสมุนไพร ร่วมกันผลิตกัญชาทางการแพทย์ โดยกรมจะรับมอบผลผลิตกัญชา จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อผลิตตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ รวมทั้งร่วมกันบริการทางวิชาการ การจัดการเรียน การสอน การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการแพทย์       แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะได้มีการเปิดสาขาวิชา การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อผลิตบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อรับใช้สังคม ประเทศชาติ ดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค เฉพาะทาง เพื่อแบ่งเบาภาระระบบสาธารณสุขของประเทศ และสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชน โดยความร่วมมือกับทางกรมครั้งนี้ มีระยะเวลา 5 ปี จากปี 2565 – 2570 ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข  โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีพันธกิจ ในการพัฒนาวิชาการและการบริการ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยส่งเสริมและพัฒนาการวิจัย การจัดระบบความรู้ พัฒนาแหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์สมุนไพร คุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการบริการ เพื่อนําไปใช้ในระบบบริการสุขภาพ อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน  ภายหลังกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้ ทางกรมฯได้รวบรวมและคัดกรองตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทั้งตำรับที่มาจากตำรายาซึ่งมีจำนวนมาก และตำรับที่แพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านมีประสบการณ์ใช้ ประกาศเป็นตำรับยาที่ให้ใช้ได้ตามกฎหมาย นำสูตรตำรับมาผลิตและพัฒนาเป็นยาสำเร็จรูปกระจายในหน่วยบริการของรัฐทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้เข้าถึงยาอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ที่ผ่านมาในช่วงเวลาเกือบ 3 ปี หลังจาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ มีตำรับยาแผนไทย ตำรับยาพื้นบ้านที่ถูกนำมาใช้มากกว่า 44 ตำรับ และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยากัญชามากกว่า 80,000 ราย ยากัญชาเหล่านี้ต้องใช้วัตถุดิบกัญชาที่มีคุณภาพปลอดภัยในการผลิตยา    สำหรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ในส่วนคุณค่าของกัญชาและสมุนไพรไทยที่สามารถนำพาประเทศไทย ไปสู่บริบทของสมุนไพรที่สร้าง

เศรษฐกิจชาติได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ามาก รวมทั้งนโยบายที่รัฐบาลทำการปลดล็อคกัญชาออกจากสารเสพติด และผลักดันให้กัญชาไทยสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รับการเปิดประเทศอีกครั้ง เพราะการยกระดับกัญชาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาส่งผลให้ปี 2564 ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง ในประเทศ มีมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท

ล่าสุดกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มีแผนในการรับช่อดอกกัญชาและกัญชงที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติมาผลิตตำรับยาสมุนไพรไทยและเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป  ถือเป็นมิติใหม่ของทั้ง 2 องค์กร ในการสร้างและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการจัดการ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือในระดับองค์กร ระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไป